https://analytics.google.com/analytics/web/provision/#/provision

สกสว. – หน่วยวิจัยแคลเซียมและกระดูก มหิดล ชวนอ่าน “กระดูก เรื่องไม่ลับ ฉบับพกพา” เตือนภัย ! กินแคลเซียมเกินโดสเกิดโทษมากกว่าคุณ

8  เมษายน 2564  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ หน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน TSRI Book Event  เปิดตัวหนังสือ  “กระดูก เรื่องไม่ลับ ฉบับพกพา” หนังสือใหม่จากร้านหนังสือ สกสว. ที่จัดทำขึ้น เพื่อสื่อสารความรู้ สร้างความเข้าใจไปยังประชาชน เกี่ยวกับการดูและรักษากระดูกของผู้คนไทยทุกช่วงวัย 

ศ.ดร.นพ.นรัตพล เจริญพันธุ์  หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  หนึ่งในบรรณาธิการสำคัญของหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงที่มาที่ไปของการจัดทำหนังสือเล่มนี้ว่า มีขึ้นเพื่อสื่อสารความรู้จากวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์สามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะเรื่องกระดูกที่ ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้นที่ต้องดูแล  แท้จริงแล้ว กระดูกมีความซับซ้อนเชิงโครงสร้างมากกว่านั้น เนื่องจากกระดูกเป็นเนื้อเยื่อของร่างกาย  หลายคนเข้าใจว่าเมื่อเราเติบโตเต็มที่แล้ว กระดูกก็จะคงที่หรือเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป แต่แท้จริงแล้วกระดูกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาคือมี การสลายและสร้างใหม่ตลอดชีวิต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนี้ค่อยๆเกิดขึ้นทีละน้อยในระดับเล็ก จึงสังเกตเห็นได้ยาก 


นอกจากนี้คนจำนวนไม่น้อยยังอาจสับสนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกระดูกอย่างถูกต้อง และยากในการตัดสินใจรับข่าวสารเกี่ยวกับกระดูกที่มาจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับกระดูกพรุน การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่เสริมสร้างกระดูก รวมไปถึงการรับประทานยาหรืออาหารเสริมแคลเซียม ซึ่งหากดูแลผิดวิธีอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายตามมาได้ หนังสือเล่มนี้ ตั้งใจจัดทำมาขึ้นเพื่อให้ผู้อ่าน ได้รับข้อมูลความรู้ ถึงการทำงานของแคลเซียมและการสร้างกระดูก รวมถึงการดูแลสุขภาพกระดูกในช่วงวัยต่างๆตั้งแต่เด็กจนถึงสูงอายุ


ทั้งนี้ตามหลักแล้ว คนแต่ละคนช่วงอายุต้องการแคลเซียมที่แตกต่างกัน  แต่ควรได้รับอย่างน้อง 800 มิลลิกรัมต่อวัน หากได้รับปริมาณเพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม โดยกระทรวงสาธารณสุขระบุไว้แล้ว ท้ายที่สุดต้องอยู่ในภาวะสมดุล ไม่มากหรือน้อยเกินไป   ดังนั้นการเสริมแคลเซียมจึงหมายความว่าคือเสริมให้ปริมาณเพียงพอไม่เกินขนาดที่ระบุไว้


ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ คณะกรรมการการจัดการความรู้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แคลเซียมเปรียบเสมือนสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุง รักษากระดูก กระดูกเป็นเหมือนเคหสถานที่กักเก็บแคลเซียม  ปริมาณแคลเซียมควรมีความสมดุลที่เหมาะสมกับในเลือด ในเซลล์ การส่งสัญญาณประสาท การเต้นของหัวใจ  การหลั่งกรดในกระเพาะ ล้วนแล้วแต่ใช้แคลเซียมเป็นองค์ประกอบสำคัญ   กล่าวโดยภาพรวมคือการทำงานของร่างกาย เราขาดแคลเซียมไม่ได้ 

Visitors: 4,080,559